วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สภาวะสุขภาพเด็กไทย : เด็กไทยกับภัยอ้วน



จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าในปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยเรามีประชากรประมาณ 65 ล้านคน โดยแบ่งเป็นประชากรในวัยทำงานร้อยละ 60   ประชากรในวัยเด็กร้อยละ 25 และประชากรในวัยสูงอายุร้อยละ 15 ซึ่งปัจจุบันนับว่าประเทศไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว เริ่มมีการตื่นตัวในการปรับตัวให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นทั้งด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การให้บริการด้านสาธารณสุข การรวมกลุ่มเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ยังมีประชากรอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นมาเพื่อเป็นกำลังหลักของประเทศในอนาคตและกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว นั่นคือประชากรวัยเด็กซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ
จากการที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมมากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนในสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการบริโภค จากในอดีตปัญหาด้านโภชนาการของคนไทยที่พบบ่อยคือโรคขาดสารอาหารแต่ในปัจจุบันเราพบว่าปัญหาโภชนาการที่น่าเป็นห่วงสำหรับคนไทยคือภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วนนั่นเอง สาเหตุมาจากการดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไป การทำงานที่ไม่เอื้อให้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายมากนัก ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การทานอาหารภายในระยะเวลาที่จำกัดและส่วนมากจะเป็นการทานอาหารตามร้านอาหารมากกว่าการทำอาหารทานเองที่บ้าน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพของประชากรในวัยทำงานเท่านั้นแต่ประชากรวัยเด็กก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากรายงานของการสาธารณสุขไทย 2548-2550 พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2526 ถึง พ.ศ. 2549 พบว่าประชากรไทยมีแนวโน้มการบริโภคน้ำตาลหรืออาหารที่ประกอบด้วยน้ำตาลและแป้งเพิ่มมากขึ้นจาก 12.7 กิโลกรัม/คน/ปี ในปี พ.ศ. 2526 เป็น 33.2 กิโลกรัม/คน/ปี ในปี พ.ศ. 2549  สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของเด็กไทยที่เปลี่ยนไปทานอาหารหรือขนมที่มีรสหวานมากขึ้น     
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2550) พบว่าในเด็กอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่มีฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่ มีเด็กที่เป็นโรคฟันผุถึงร้อยละ 61.37 โดยมีค่าเฉลี่ยฟันผุถอนอุดเท่ากับ 3.21 ซี่ต่อคน ในเด็กกลุ่มอายุ 5 ปี เป็นโรคฟันผุร้อยละ 80.64 มีค่าเฉลี่ยฟันผุถอนอุดเท่ากับ 5.43 ซี่ต่อคน ซึ่งแนวโน้มการเกิดฟันผุในเด็กไทยก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเด็กที่มีปัญหาโรคฟันผุมากจะทำให้ระบบบดเคี้ยวอาหารไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งด้านการเจริญเติบโตของร่างกายและการพัฒนาระบบประสาทและสมองด้วย
การสำรวจสถานะสุขภาพประชากรไทย ปี 2540 ถึง ปี 2544 พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 7.9 ส่วนเด็กวัยเรียนอายุ 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 6.7
นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 จำนวน 47,389 คน ในโรงเรียนประถมศึกษาในเขตเมืองทั่วประเทศจำนวน 268 โรงเรียน ในปี 2548 พบว่า มีเด็กอ้วนร้อยละ 12 บางโรงเรียนในภาคกลางมีเด็กอ้วนถึงร้อยละ 25
ผลการสำรวจภาวะโภชนาการของเด็กไทยในวัยเรียน จากสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล ปี 2552 พบว่า ภาพรวมเด็กช่วงชั้นอนุบาล และประถมฯ ส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 8.3 และ 7.73 ตามลำดับ
เด็กอายุ 0-5 ปี มีภาวะอ้วนร้อยละ4.0 เด็กอายุ 6-14 ปีในเขตเมืองพบภาวะอ้วนร้อยละ 9.5 เยาวชนในเขตเมืองอายุ 15-18 ปี พบภาวะอ้วนร้อยละ 17.7
นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2558 จะมีเด็กก่อนวัยเรียนที่มีภาวะอ้วนถึง 1 ใน 5 และเด็กวัยเรียนมีภาวะอ้วน 1 ใน 10 ของเด็กกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเด็กที่มีภาวะอ้วนเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลด้านโภชนาการที่ถูกต้องเมื่อโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีภาวะอ้วน ทำให้เสี่ยงต่อโรคต่างๆ มากขึ้น เช่น โรคหัวใจ ความความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเส้นเลือดสูง เป็นต้น
จึงได้มีการเสนอรูปแบบของการ “กินเป็น” เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยอ้วนให้กับเด็กทั้งก่อนวัยเรียนและในวัยเรียน เช่น ให้เด็กทานอาหารให้เป็นเวลา  กำหนดเวลาทานอาหารให้เด็กประมาณ 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอต่อการทานอาหารให้อิ่ม สร้างมารยาทในการทานอาหาร พ่อและแม่ต้องพยายามจัดอาหารให้หลากหลายเพื่อให้เด็กได้ทดลองทานอาหารใหม่ๆ ไม่ควรใช้วิธีบังคับให้ทานอาหารที่เด็กไม่ชอบ ควรใช้วิธีประนีประนอม และที่สำคัญพ่อและแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารให้แก่เด็กๆ
            สุดท้ายยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยไม่ให้เด็กมีภาวะอ้วนได้ นั่นคือการออกกำลังกาย โดยให้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 30 นาที อย่างน้อย 3-4 วันต่อสัปดาห์


ทพ. กฤษดาพันธ์   จันทนะ
ฝ่ายทันตสาธารณสุข  รพร.ด่านซ้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น